ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว สรรพคุณน้อยกว่าที่คิด-by-Doctor-Healthcare

จากข้อมูลของสมาคมหัวใจอเมริกา (American Heart Association) เมื่อมิถุนายน 2560 ทำให้เกิดการสั่นคลอนความเชื่อในประโยชน์ของมะพร้าวครั้งยิ่งใหญ่ มะพร้าวเป็นผลไม้เคียงคู่กับเมืองไทยมาเป็นเวลานาน ทั้งด้วยความหอมและรสชาติที่ทำให้รู้สึกสดชื่น จึงทำให้มะพร้าวเป็นผลไม้ที่นิยมอันดับต้น ๆ แต่จากข้อความที่สมาคมหัวใจอเมริการะบุว่า “น้ำมันมะพร้าวมีโทษต่อสุขภาพไม่ต่างจากน้ำมันสัตว์”  อาจทำให้หลายคนต้องปรับเมนูอาหารใหม่เลยทีเดียว

 

coconut-good-น้ำมันมะพร้าว-ประโยชน์

ผู้ที่รักสุขภาพทั้งหลายที่เน้นการทานอาหารคลีนหรือสูตรอาหารจำเพาะมีความเชื่อว่ามะพร้าวมีประโยชน์ เช่น ลดน้ำหนัก ลดไขมัน ควบคุมเบาหวาน บำรุงระบบประสาท บำรุงผิวและเส้นผม ต้านเชื้อโรค เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ข้อมูลที่ถูกรวบรวมมีมากขึ้น พบว่าการทานมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ต่าง เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำสกัดมะพร้าว มีความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือดสูงขึ้น แต่ผลการศึกษาก็ยังคงไม่ชัดเจน แม้ว่าหลายการศึกษาทั้งในคนและสัตว์ทดลองจะพบว่า MCT หรือ Medium Chain Triglyceride ซึ่งเป็นกรดไขมันอิ่มตัวโมเลกุลสายยาวปานกลางที่พบได้ในน้ำมันมะพร้าวและมีประโยชน์ต่อสุขภาพนั้น อาจมีสรรพคุณน้อยกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด

น้ำมันมะพร้าวกับไขมันอิ่มตัว

การทานอาหารที่จำกัดปริมาณไขมันอิ่มตัวจะช่วยลดความเสี่ยงการตายจากโรคหัวใจได้ถึงหลายล้านคนในแต่ละปี โดยปริมาณไขมันอิ่มตัวที่ได้รับต่อวันในผู้ชายไม่ควรเกิน 30 กรัม หรือ 2 ช้อนโต๊ะ และ 20 กรัม หรือ 1.33 ช้อนโต๊ะในผู้หญิง ซึ่งน้ำมันมะพร้าวหนึ่งช้อนโต๊ะให้พลังงาน 117 กิโลแคลอรี่ มีปริมาณไขมัน 14 กรัม คิดเป็นไขมันอิ่มตัวสูงถึง 12 กรัม จะเห็นว่าการทานน้ำมันมะพร้าวเพียงเล็กน้อยก็ให้ปริมาณไขมันอิ่มตัวค่อนข้างสูงในรูปของไขมันไตรกลีเซอไรด์ ร่างกายเราต้องการไขมันอิ่มตัว ส่วนหนึ่งเป็นโครงสร้างของเซลล์เพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ของร่างกายรวมทั้งระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้สิ่งแปลกปลอม และการขับสารพิษของตับ

ในมะพร้าวมีกรดไขมัน MCT เป็นกรดไขมันโมเลกุลสายยาวปานกลาง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกรดไขมันลอริก (Lauric acid) เป็นส่วนใหญ่ ส่วนประกอบนี้ต่างจาก MCT oil ทำให้บางครั้ง MCT จากมะพร้าวก็ถูกจัดเป็น pseudo-MCT หรือเรียกได้ว่าไม่ใช่ MCT ที่แท้จริง

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เชื่อว่ามะพร้าวช่วยทำให้เราสุขภาพดี เพราะเมื่อไปดูวิถีชีวิตของชาวเกาะแถบหมู่เกาะแปซิฟิกที่ชาวเกาะ ได้พลังงานหลักในแต่ละวันจากมะพร้าวประมาณ 63% แต่กลับไม่พบปัญหาโรคหัวใจ ผลที่ได้ดูขัดแย้งกับข้อมูลส่วนใหญ่ ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำสกัดมะพร้าวที่เราทานกันนั้นได้ถูกลดส่วนที่มีประโยชน์ออกไป เช่น โพลีฟีนอล ไฟเบอร์ วิตามินอี และไม่ได้บริสุทธิ์เทียบเท่ากับน้ำมันมะพร้าวที่อยู่ในห้องทดลอง ดังนั้นสรรพคุณที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจึงไม่ได้ผลตามที่คาดการณ์ไว้ในชีวิตจริง

ประโยชน์ และ โทษของน้ำมันมะพร้าว

1. น้ำมันมะพร้าวช่วยเพิ่มไขมันดี (HDL)

มีงานวิจัยที่เปรียบเทียบระหว่างน้ำมันมะพร้าวซึ่งมีไขมันอิ่มตัวสูง กับน้ำมันพืชซึ่งมีไขมันไม่อิ่มตัวสูง แนวโน้มพบว่าน้ำมันมะพร้าวเพิ่มระดับไขมันดี (HDL) แต่เพิ่มในปริมาณเล็กน้อย ไขมัน HDL เป็นตัวที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ยังต้องพิจารณาปัจจัยเสี่ยงจากอย่างอื่นด้วย เช่น ไขมันคลอเลสเตอรอลรวม การอักเสบ การมีคราบหินปูนสะสมในหลอดเลือด หมายความว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดยังคงเกิดขึ้นได้แม้ว่ามีปริมาณไขมัน HDL สูง

อย่างไรก็ตาม การลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจไม่ใช่แค่การลดปริมาณคลอเลสเตอรอลเท่านั้น เราต้องแก้ไขที่ต้นเหตุคือ การลดภาวะการอักเสบ ทำได้โดยการทานแป้งและน้ำตาลขัดสีให้น้อยลง สิ่งเหล่านี้ขัดขวางไขมันดี HDL เพิ่มภาวะดื้ออินซูลิน ไขมันแย่ LDL และไขมันไตรกลีเซอไรด์

2. น้ำมันมะพร้าวลดพุง…จริงเหรอ

แม้ว้ามีการศึกษาที่พบว่า การทานน้ำมันมะพร้าวสกัดคุณภาพสูงจะช่วยลดเส้นรอบเอวของผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจหรือผู้ที่เป็นเบาหวาน แต่งานศึกษาเหล่านั้นเป็นเพียงการศึกษาขนาดเล็ก และผู้เข้าร่วมการทดลองมีแนวโน้มตั้งใจลดน้ำหนักก่อนเข้าร่วมการทดลองนี้อยู่แล้ว ซึ่งทำให้ผลการศึกษาที่ได้ไม่ตรงไปตรงมาอย่างชัดเจนในการแปลผล

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำในปัจจุบันนี้ คือ ใช้น้ำมันจากพืชชนิดใดก็ได้เพียง 1-2 ช้อนโต๊ะในการปรุงอาหาร มื้ออาหารควรเน้นผัก เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ธัญพืช อาหารเหล่านี้จะช่วยให้อิ่มท้องได้นานขึ้น และช่วยให้เราเข้าโปรแกรมลดน้ำหนักอย่างที่ตั้งใจไว้ได้นานพอ

3. น้ำมันมะพร้าวชะลอสมองเสื่อม

คำชวนเชื่อที่พูดถึงการทานน้ำมันมะพร้าวเพื่อช่วยเพิ่มความฉลาด คงจะเกินจริงมากเกินไป แท้จริงแล้ว สมองและระบบประสาทมีส่วนประกอบของไขมันคลอเลสเตอรอล 25% จากที่เราทราบกันแล้วว่าน้ำมันมะพร้าวช่วยเพิ่มปริมาณไขมัน  HDL แต่เพิ่มปริมาณเพียงเล็กน้อย จึงมีการคาดการ์ณว่าการทานน้ำมันมะพร้าวจะช่วยบำรุงระบบประสาท แม้ว่าจะมีการศึกษาในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ลมชัก และโรคซึมเศร้า แต่ยังต้องคำนึงถึงข้อเสียเรื่องไขมันตัวแย่ LDL และไตรกลีเซอไรด์ที่เพิ่มตามมาด้วย การเลือกทานน้ำมันมะกอกสกัดอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าในการชะลอภาวะสมองเสื่อม

4. น้ำมันมะพร้าวมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

ร่างกายจะเปลี่ยนกรดไขมันลอริกในน้ำมันมะพร้าวให้เป็นโมโนลอริก ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส แบคทีเรีย

แต่เราคงไม่ได้หวังประโยชน์จากการทานน้ำมันมะพร้ามเพื่อไปฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในอวัยวะภายใน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เราต้องทานในปริมาณมาก ซึ่งไม่คุ้มค่ากับน้ำหนักตัวและความเสี่ยงในการเป็นโรคอย่างอื่นตามมา

5. น้ำมันมะพร้าวช่วยลดน้ำตาลในเลือด

ทุกครั้งที่ผู้ป่วยเบาหวานบริโภคโปรตีนหรือไขมันพร้อมกับทานคาร์โบไฮเดรต จะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลในกระเพาะเข้าสู่หลอดเลือดร่างกายอยู่แล้ว นั่นหมายความว่า ระดับน้ำตาลในเลือดจะไม่สูงชะลูดขึ้นทันที แต่ไม่ได้แปลว่าน้ำมันมะพร้าวจะยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย

ยังมีการทดลองที่พบว่า น้ำมันมะพร้าวช่วยเพิ่มความไวของอินซูลินซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นเบาหวาน แต่ยังเป็นเพียงการทดลองที่ทำในสัตว์เท่านั้น

6. น้ำมันมะพร้าวช่วยบำรุงผิวและเส้นผม

เป็นที่รู้จักกันดีตั้งแต่ในอดีตทั้งในเมืองไทย อายุรเวทอินเดีย ว่าน้ำมันมะพร้าวช่วยในการบำรุงเส้นผม ซึ่งในปัจจุบันค้นพบว่าโมเลกุลกรดไขมันขนาดเล็กในน้ำมันมะพร้าวสามารถแทรกซึมเข้าสู่เส้นผมได้ และน้ำมันมะพร้าวยังช่วยบำรุงผิวแห้ง ผิวเป็นขุยได้ ชึ่งดีกว่าน้ำมันมะกอก

ควรทานน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำสกัดมะพร้าวต่อไปหรือไม่

น้ำมันมะพร้าวเป็นตัวเลือกน้ำมันพืชที่ดีตัวหนึ่งในการเลือกใช้ประกอบอาหาร แต่หลักการการมีสุขภาพดียังคงยึดหลักเดิม คือ การทานอาหารให้หลากหลาย เน้นผักและผลไม้ในมื้ออาหาร โอเมก้า3 ที่ได้จากปลาและสัตว์กินพืชตามธรรมชาติ

การแพทย์ในปัจจุบันพบว่า ความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่ใช่ไขมันอิ่มตัว ที่ถูกกล่าวโทษให้เป็นแพะรับบาบมาตลอด แต่ปัจจัยที่ก่อความเสี่ยง คือ ไขมันทรานส์ ธัญพืชขัดสี น้ำตาล และอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป เสริมแต่งสารสังเคราะห์ต่าง ๆ

ท้ายสุดแล้ว หากจะเลือกทานน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำสกัดมะพร้าว ควรเลือกเพราะชื่นชอบในรสชาติ ไม่ใช่เพราะประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว  และสิ่งสำคัญคือ น้ำมันจากพืชมีประโยชน์ แต่ไม่ควรทานเกิน 1-2 ช้อนโต๊ะต่อวัน เพื่อสุขภาพดีในระยะยาว