สารให้ความหวานแทนน้ำตาล อ้วนหรือไม่-by-Doctor-Healthcare

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เป็นสารที่ถูกนำมาใช้มากขึ้นและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องด้วยคนหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง ดูแลรูปร่างให้ดูดี จึงมองหาตัวช่วยที่ให้ความอร่อยแต่ปราศจากแคลอรี่หรือพลังงาน และคิดบวกเข้าข้างตัวเองว่าวิธีเหล่านี้จะช่วยลดน้ำหนักได้

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล คืออะไร

ตั้งแต่ปี คศ.1950 คิดเป็นประมาณ 70 ปีแล้ว ที่สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือน้ำตาลเทียมได้เปิดตัวสู่ท้องตลาด และเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผู้ประกอบการขายโฆษณาเน้นที่เรื่องปราศจากพลังงาน แต่ยังทำให้รสชาติหวานอร่อยกลมกล่อม ช่วยควบคุมน้ำหนัก ในขณะเดียวกันกับที่ความนิยมพุ่งมากขึ้น ทางการแพทย์ก็เกิดข้อถกเถียงถึงประโยชน์ที่แท้จริงกับโทษของสารนี้เช่นกัน

 

sweetener-สารให้ความหวานแทนน้ำตาล-โทษ

 

  • สารให้ความหวานแทนน้ำตาล แบบสารสังเคราะห์ (artificial sweetener) เช่น
  1. แอสปาแตม (Aspatam) พบได้ใน Equal, Nutrasweet
  2. แซคคาริน (Saccharin) หรือขัณฑสกร พบได้ใน Sugar Twin, Sweet ’N Low
  3. อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม (Acesulfame potassium) พบได้ใน Sunett, Sweet One
  4. ซูคราโลส (Sucralose)
  5. น้ำตาลแอลกอฮล์ (Sugar alcohol) พบได้ใน Xylitol, Sorbitol, Mannitol
  • สารให้ความหวานแทนน้ำตาล แบบที่ได้จากธรรมชาติ (natural sweetener) เช่น หญ้าหวาน (Stevia) น้ำผึ้ง น้ำเชื่อมเมเปิ้ล (Maple syrup) น้ำตาลมะพร้าว

การจัดแบ่งกลุ่มสารเหล่านี้ทำได้ไม่ชัดเจนนัก เพราะไม่สามารแบ่งได้ตามคำจำกัดความที่แท้จริง สารให้ความหวานแทนน้ำตาลแบบสังเคราะห์ อาจมีบางตัวที่ต้นกำเนิดมาจากธรรมชาติ แต่ถูกปรุงแต่งทางเคมี จึงจัดให้อยู่ในกลุ่มสังเคราะห์ เช่น กลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ ในทางกลับกัน สารให้ความหวานแทนน้ำตาลแบบธรรมชาติ ก็ผ่านกระบวนการทางด้านอุตสาหกรรมบางอย่างก่อนมาถึงผู้บริโภคอย่างเรา เช่น หญ้าหวาน

สิ่งสำคัญที่เราควรระลึกไว้อยู่เสมอ คือ สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ทั้งแบบธรรมชาติและแบบสังเคราะห์ ไม่ใช่สิ่งวิเศษที่ทานแล้วทำให้น้ำหนักเราลดลง เพราะการลดน้ำหนักแบบสุขภาพดี จำเป็นต้องอาศัยหลายปัจจัยประกอบกัน

ความอ้วน โรคหลอดเลือดสมอง และสารให้ความหวานแทนน้ำตาล

ดูเหมือนว่า การทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาลจะช่วยลดความอ้วน ควบคุมระดับน้ำตาลในคนไข้เบาหวาน และปัจจัยเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองได้ เพราะสรรพคุณของตัวมันเองที่มักได้ยินว่า ไม่ให้พลังงาน (no calories) และ เพื่อสุขภาพ (diet) นั่นคือ ให้ความหวานโดยที่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าน้ำตาลแท้ หรือไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดโดยตรงเลย เพราะโครงสร้างของมันที่ร่างกายเราไม่สามารถย่อยเป็นพลังงานได้ แต่จากงานวิจัยล่าสุดปี คศ. 2017 ของสมาคมหัวใจอเมริกัน (American Heart Association, AHA) พบว่า การทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาลแบบสังเคราะห์ เพิ่มความเสี่ยงกับการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) และความจำเสื่อม (dementia)

สิ่งที่อธิบายสาเหตุในเรื่องนี้ได้ คือ สารให้ความหวานแทนน้ำตาลมีรสหวานกว่าน้ำตาลแท้หลายเท่าใหปริมาณที่เท่ากัน แต่ให้พลังงานแก่ร่างกายน้อยมาก ดังนั้นสมองของเราเสมือนว่าถูกหลอก เรายังคงติดรสชาติหวานอยู่ และแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทางกลับกัน ร่างกายได้พลังงานน้อยมาก ทำให้ร่างกายพยายามปรับตัวชดเชยโดยการทำให้เราทานอย่างอื่นเสริม หรือในบางราย เป็นข้ออ้างให้เราสามารถทานเครื่องดื่ม ขนม หรืออาหารได้มากขึ้น เช่น ทานแฮมเบอร์เกอร์คู่กับน้ำอัดลมไดเอต ดื่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพคู่กับขนมเค้ก กลายเป็นได้พลังงานแคลอรี่ที่มากกว่าเดิมหลายเท่า ส่งผลให้โรคต่าง ๆ มาเยือน เช่น เพิ่มอ้วนคิดเป็น 36% เพิ่มเบาหวานคิดเป็น 67% และเพิ่มโรคหลอดเลือดซึ่งปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงตัวหนึ่งคือน้ำตาล

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล กับมะเร็ง

ยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งในคน พบเพียงว่า สารให้ความหวานแอสปาแตมเพิ่มอัตราการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในหนูเท่านั้น จากข้อมูลเหล่านี้ เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลแบบสังเคราะห์ เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งในคนหรือไม่ เนื่องจากงานวิจัยทำการเก็บข้อมูลในผู้ที่ดื่มเครื่งดื่มที่มีน้ำตาลเทียมทุกวัน ที่ปริมาณน้อยกว่า 24 ออนซ์ หรือ 680 กรัมต่อวัน เท่านั้น ในกรณีที่ทานมากกว่านี้ จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม

เราควรเลือกทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่างไร

คนที่กำลังหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง ลดน้ำหนัก คุมน้ำตาล คุมระดับไขมัน การมีตัวช่วยก็เป็นเรื่องที่ทำให้เราดูแลสุขภาพได้ง่ายขึ้น แต่เหรียญมี 2 ด้าน มีข้อดีย่อมมีข้อเสีย สิ่งที่เราเลือกทาน กินให้เป็นได้ คือ ทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาลแค่ช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ใช่ทานไปตลอด ร่วมกับมีวินัยต่อตัวเองในการควบคุมอาหารอย่างอื่น ออกกำลังกายมากขึ้น ให้เรานึกไว้เสมอว่า “แค่ขยับ ก็เท่ากับออกกำลังกาย” ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นผลเสียต่อการทานสารให้ความหวานเป็นต่อเนื่องระยะเวลานาน ดังนั้นสำหรับเด็กแล้ว ควรเลี่ยงการทานสารให้ความหวานแบบสังเคราะห์อาจเป็นทางออกที่เหมาะสมสุด

แบบธรรมชาติ ดีจริงมั้ย  อะไรที่มาจากธรรมชาติฟังคล้ายจะปลอดภัย เนื่องจากยังไม่พบผลเสียจากการทานสารให้ความหวานแทนธรรมชาติ เช่น หญ้าหวาน จึงดูเหมือนว่าจะเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนรักสุขภาพในตอนนี้ที่เราทานได้ สำหรับน้ำตาลแอลกอฮอล์ องค์การอาหารและยาอเมริกาให้การรับรองว่าสามารถใช้เติมลงไปในอาหารได้อย่างปลอดภัย ไม่ได้จำกัดปริมาณ แต่ให้ใช้เท่าที่จำเป็นตาม Good Manufacturing Practices (GMP) ยังไม่พบผลข้างเคียงจากการทานน้ำตาลแอลกอฮอล์แบบรุนแรง แต่สามารถพบว่ามีอาการถ่ายเหลว หรือท้องอืดได้

รู้จัก สารให้ความหวานแทนน้ำตาล

  1. Acesulfame potassium ไม่ให้พลังงาน พบได้ใน เครื่องดื่ม เจลาติน หมากฝรั่ง ของหวานแช่แข็ง ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 200 เท่า พบว่าสัมพันธ์การเป็นมะเร็งในสัตว์ แต่ยังไม่พบว่าก่อมะเร็งในคน
  2. Aspatame ไม่ให้พลังงาน พบได้ในเครื่องดื่ม หมากฝรั่ง โยเกิร์ต ยาแก้ไอแบบน้ำ ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 180 เท่า ผู้ป่วยโรค phenylketonuria ควรหลีกเลี่ยง
  3. ขัณฑสกร (Saccharin) ไม่ให้พลังงาน พบได้ใน เครื่องดื่ม อาหารกระป๋อง ลูกอม ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 300 เท่า แม้ว่าจะเพิ่มการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารในหนู แต่ปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลว่าเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งในคน
  4. น้ำเชื่อมข้าวโพด (Corn syrup) ให้พลังงาน 17 กิโลแคลอรี่ต่อช้อนชา อาจให้พลังงานสูงกว่าน้ำตาลแท้ (Sucrose) เล็กน้อย ราคาถูกว่า และคงสภาพอยู่ได้นานกว่า จึงถูกเลือกใช้ในอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น โซดา ซีเรียล โยเกิร์ต
  5. น้ำผึ้ง ให้พลังงาน 21 กิโลแคลอรี่ต่อช้อนชา อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามิน และเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้น้อยกว่าน้ำตาลธรรมชาติตัวอื่น อย่างไรก็ตาม โดยรวมยังจัดว่าให้พลังงานแก่ร่างกายค่อนข้างสูง พบได้ใน ซีเรียล ขนมอบ ชา
  6. หญ้าหวาน (Stevia) ไม่ให้พลังงาน เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โยเกิร์ต แบบซองหรือกล่องสำเร็จรูป ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีผลเสียต่อร่างกาย
  7. Sucralose ไม่ให้พลังงาน พบได้ใน น้ำผลไม้ ผลไม้กระป๋อง น้ำเชื่อม งานวิจัยในปัจจุบันยังไม่พบว่าส่งผลเสียรุนแรงต่อคน
  8. น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Xylitol, Sorbitol, Mannitol) ให้พลังงาน 10 กิโลแคลอรี่ต่อช้อนชา หรือคิดเป็น 2.6 กิโลแคอรี่ต่อกรัม ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลแท้ 600 เท่า แต่ไม่ทำให้ฟันผุเหมือนน้ำตาลแท้ พบได้ในลูกอมปราศจากน้ำตาล ขนมหวาน หมากฝรั่ง นิยมใช้ในอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การทานน้ำตาลแอลกอฮอล์มาก อาจทำให้ถ่ายเหลว หรือท้องอืดได้

โทษของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลสังเคราะห์ที่พบได้บ่อย เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ วิงเวียน แม้ว่าจะยังไม่พบว่ามีผลเสียรุนแรง แต่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มก็เชื่อว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเหล่านี้ส่งผลเสียต่อกระบวนการเมตาบอลิซึ่มของร่างกาย ดังนั้น เราจึงควรเลือกทานสารเหล่านี้ให้อยู่บนความพอดี ร่วมกับทำตามหลักการพื้นฐานเพื่อการมีสุขภาพดีในยุคใหม่