ภัยใกล้ตัวจากแสงอัลตราไวโอเลต-by-Doctor-Healthcare
เคล็ด(ไม่)ลับแสงรังสีอัลตราไวโอเลต หรือที่เรียกว่าแสงยูวี (Ultraviolet, UV) เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่อยู่ในคลื่นแสงที่ส่งจากดวงอาทิตย์ แม้ว่าสายตาเราไม่สามารถมองเห็นได้ แต่เราสัมผัสได้ในรูปแบบพลังงานความร้อน แสงยูวีมีทั้งประโยชน์และโทษต่อร่างกาย แสงยูวีถูกนำมาใช้ในการรักษาภาวะกระดูกอ่อนในเด็ก สะเก็ดเงิน ผื่นผิวหนังอักเสบ (eczema) ภาวะเหลืองในเด็ก แต่หากได้รับมากเกินไปก็สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้
ผิวไหม้จากแดด เกิดจากสาเหตุใด
เพื่อที่จะเข้าใจสาเหตุที่ทำให้ผิวไหม้จากแดดเกิดจากแสงยูวีได้อย่างไร เบื้องต้นมาทำความรู้จักพื้นฐานคลื่นความความยาวของรังสีแบบง่าย ๆ แสงรังสีถูกแบ่งโดยคลื่นความยาวเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ แสงที่สายตาเรามองเห็นได้ (Visible light) มีคลื่นความยาว 400-760 นาโนเมตร แสงที่มีคลื่นความยาวมากกว่าจัดเป็นแสงอินฟาเรด (Infrared) ส่วนคลื่นความยาวที่น้อยกว่าและสายตาเราไม่สามารถมองเห็นได้เรียกว่า อัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) หรือแสงยูวี ซึ่งรังสียูวียังถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
- Ultraviolet A (UV-A) คลื่นความยาว 315-400 นาโนเมตร
- Ultraviolet B (UV-B) คลื่นความยาว 280-315 นาโนเมตร
- Ultraviolet C (UV-C) คลื่นความยาว 100-280 นาโนเมตร
ปกติแล้วรังสี UVC จะไม่สามารถผ่านชั้นบรรยากาศ โอโซนของโลกเข้ามาได้ จะมีเพียงเฉพาะรังสี UVA ประมาณ 90% และรังสี UVB 10% ที่ผ่านชั้นบรรยากาศเข้ามาและส่งผลต่อสุขภาพของเราได้ ซึ่งทั้งสองรังสีนี้ส่งผลต่อร่างกายอย่างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
UVA : รังสียูวีเอ ผ่านเข้าไปทำลายชั้นผิวหนังที่บริเวณชั้นหนังแท้ (Dermis) ที่อยู่ลึกตรงกลางของชั้นผิวหนัง และชั้นไขมันด้านใต้ (Subcutaneous tissue) ทำให้หยุดยั้งการเกิดใหม่ของเซลล์ผิว ก่อให้เกิดความเสื่อมเป็นสำคัญ
UVB : รังสียูวีบี ผ่านเข้าไปทำลายชั้นผิวหนังบริเวณชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ที่อยู่ชั้นบนสุด และถูกดูดซับไว้ประมาณ 90% ยูวีบีมีอนุภาคการทำลายที่มากกว่า ทำให้เกิดอาการบวม แดง แสบ พบเป็นภาวะผิวไหม้จากแดด (sunburn)
แม้ว่ารังสี UVA จะก่อให้เกิดความเสื่อมของผิวมากกว่า UVB แต่การที่ร่างกายถูกทำลายด้วย UVB ซ้ำ ๆ ก็ส่งผลให้เกิดความเสื่อมตามมาได้เช่นกัน
ปัจจัยที่ส่งผลเพิ่มภาวะผิวไหม้จากแดด
- เส้นศูนย์สูตร พื้นที่ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจะได้รับปริมาณรังสียูวีมากกว่า
- ความสูงจากพื้นดิน ปริมาณรังสีเพิ่มขึ้น 4% ในทุกความสูงที่เพิ่มขึ้น 300 เมตร
- เวลา ช่วงเวลา 10.00-14.00 น. เป็นช่วงเวลาที่รังสีผ่านเข้ามาถึงพื้นโลกคิดเป็น 65% จากทั้งหมด
- ท้องฟ้า เมฆ หมอก มลภาวะเป็นตัวลดปริมาณรังสี
- การสะท้อนจากสิ่งแวดล้อม รังสียูวีถูกสะท้อนจากหิมะและน้ำแข็งได้มากถึง 80%
สัญญาณบ่งบอกภาวะผิวไหม้จากแดด
อาการหรือสัญญาณที่บ่งบอกว่าเรามีภาวะผิวไหม้แดด มักเกิดตามมาหลังจากที่โดนรังสียูวีประมาณ 2-6 ชั่วโมง และเห็นอาการได้ชัดประมาณ 12-24 ชั่วโมงต่อมา อาการเหล่านั้น คือ ผิวแดง บวม แสบ เจ็บเมื่อสัมผัส ผิวหนังอุ่นหรือออกร้อน ในรายที่เป็นมาก อาจพบผิวหนังเป็นตุ่มน้ำพอง ไข้สั่น นั่นหมายถึงผิวหนังชั้นลึกถูกทำลาย หากพบว่าผิวหนังชั้นลึกจำนวนมากถูกทำลายด้วยรังสียูวี อาจเสี่ยงต่อภาวะสูญเสียน้ำ เกลือแร่เสียสมดุล ติดเชื้อซ้ำและเสียชีวิตได้
ผลระยะยาวจากรังสียูวี
โลกเราเปลี่ยนไป รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา หากเราละเลยการดูแลตัวเองแล้ว รังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีที่เรามองไม่เห็น ไม่เพียงแต่จะส่งผลระยะสั้นต่อเรา เช่น ผิวแดง ดำ คล้ำ แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวเหล่านี้ตามมาและมากขึ้นทุกวัน
- ผิวเสื่อมก่อนวัย รอยเหี่ยวย่น
- จุดด่างดำ กระ
- เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งผิวหนัง
ผิวไหม้แดด ป้องกันได้อย่างไร
การป้องกันสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงชั่วโมงเวลา 10.00-14.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่รังสียูวีส่งมายังพื้นโลกมากถึง 65% เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่คลุมร่างกายได้พอเหมาะ สวมหมวกปีกกว้าง และทาครีมกันแดดที่มี SPF 50+
ครีมกันแดดปกป้องผิวเราอย่างไร
หลายครั้งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสรังสีอัตราไวโอเลตได้ ครีมกันแดดจึงเป็นตัวช่วยอย่างมากในชีวิตประจำวัน ความสามารถในการป้องกันแสงยูวีขึ้นกับสารเคมีที่เป็นส่วนผสม การดูดซึม และการคงตัวของสาร ทั่วไปแล้ว ครีมกันแดดมักมีสารกันแดดหลายชนิดร่วมกันเพื่อให้สามารถป้องกันรังสี UVA และ UVB ได้ สารที่นิยมส่วนใหญ่เป็น สารประกอบไทเทเนียม (titanium oxide) และสังกะสี (zinc oxide) ทั้งสองตัวนี้มีความสามารถในการสะท้อนรังสีที่ความยาว 400 นาโนเมตร และ 370 นาโนเมตร ตามลำดับ ซึ่งจัดว่ามีคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวีได้อย่างครอบคลุม มีความปลอดภัยเมื่อใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ แต่พบข้อเสียคือ หลังทาแล้วอาจทำให้สีผิวดูหม่นหรือดูออกเทา แตกต่างกันตามมาตรฐานคุณภาพการผลิต บ้างใช้วิธีลดขนาดอนุภาคสารประกอบ บ้างใช้วิธีลดสารเสริมความขาว (whitening) แล้วเพิ่มคุณภาพการดูดซึมรังสี บ้างใช้วิธีเติมสารเพิ่มความกระจ่างแก่ผิว
ส่วนสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ antioxidant ที่ถูกเติมเข้าไป ไม่สามารถผ่านการดูดซึมเข้าชั้นผิวหนังกำพร้าได้ ส่วนใหญ่ประสิทธิภาพถูกทำลายตั้งแต่ตอนที่สัมผัสผิวหรือแสงแดดแล้ว
แม้ว่ายูวีจะมีข้อดี แต่ก็ต้องระวังอันตรายด้วย เพราะสามารถทำลายผิวเราได้มากกว่าที่เราคิด ป้องกันไว้ย่อมดีกว่าแก้ไข ไม่ใช่แค่เพียงคนผิวขาวที่ต้องระวัง คนผิวคล้ำก็ควรระวังไม่ต่างกัน เพราะผลเสียที่มากกว่าความแก่ก่อนวัย หรือเพียงความสวยงาม แต่หมายถึงโรคมะเร็งผิวหนังที่อาจมาเยือนได้
There are no reviews yet.