ขมิ้นชัน จากห้องครัวสู่สารทรงพลัง
ความรู้สุขภาพขมิ้นชัน หรือ ขมิ้น เป็นเครื่องแกงที่มีมานาน และถูกจัดว่าเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณมากตัวหนึ่ง โดยเฉพาะกระบวนการเยียวยาจากการอักเสบ เห็นได้จากงานวิจัยมากกว่า 6000 ฉบับ ที่กล่าวถึงสารเคอคูมินซึ่งอยู่ในขมิ้นเป็นตัวออกฤทธิ์หลัก ทำให้ขมิ้นถูกเลื่อนขั้นขึ้นมาอยู่ระดับแนวหน้าของวงการสมุนไพรทางการแพทย์ไม่แพ้สมุนไพรอื่น ๆ เช่น กระเทียม อบเชย โสม ขิง มิลค์ทิสเซิล (Milk thistle)
งานวิจัยจำนวนหลายพันฉบับกล่าวถึงสรรพคุณสารเคอคูมินว่ามีฤทธิ์เทียบเท่ากับยาหลายตัวในปัจจุบัน เช่น ยาลดการอักเสบ (anti-inflamatory drugs) ยาต้านซึมเศร้า ยาต้านเกล็ดเลือด (aspirin) ยาลดปวด ยาเบาหวาน เป็นต้น
ประโยชน์ของเคอคูมิน
- ต้านเกล็ดเลือด / ต้านลิ่มเลือด ( Antiplatelets / Anticoagulants)
แอสไพริน วาร์ฟาริน เอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน เป็นยาที่ถูกใช้เพื่อต้านกระบวนการแข็งตัวของเลือด เช่น โรคลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด / ขา / สมอง ผลข้างเคียงที่พบได้คือ ภาวะเลือดออกมากกว่าปกติ หรือเลือดหยุดไหลยาก ขมิ้นมีคุณสมบัติต้านกระบวนการแข็งตัวของเลือด แต่ข้อดีที่ทำให้ขมิ้นได้เปรียบ คือ ไม่มีผลข้างเคียงเหมือนยาดังกล่าว
- ลดภาวะซึมเศร้า (Anti-depressants)
จากงานวิจัยพบว่าสารเคอคูมินในขมิ้นชันช่วยลดภาวะซึมเศร้า วารสาร Phytotherapy Research ตีพิมพ์ผลงานวิจัยซึ่งทำการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 60 คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า (Major depressive disorder, MDD) โดยเปรียบเทียบระหว่างการใช้สารเคอคูมินกับยาฟลูออกซีทิน (Fluoxetine) ซึ่งเป็นยารักษาประสาท พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับเคอคูมินมีผลการรักษาเทียบเท่าผู้ป่วยที่ได้รับยาฟลูออกซีทิน แต่ไม่มีผลข้างเคียงเหมือนผู้ป่วยที่ได้รับยาฟลูออกซีทิน เชื่อว่าเป็นผลจากการเพิ่มระดับสารซีโรโตนิน (Serotonin) หรือ “ฮอร์โมนแห่งความสุข” และสารโดปามีน (Dopamine) เมื่อไม่มีผลข้างเคียงเหมือนยาต้านเศร้า ก็ทำใหห้ผู้ป่วยทานยาได้นานมากขึ้น
- ต้านการอักเสบ ( Anti-inflammatories)
เคอคูมินในขมิ้นชันถูกจัดอันดับว่าเป็นสารต้านการอักเสบที่ดีที่สุด ในขณะที่แอสไพรินและไอบูโพรเฟนอยู่อันดับท้ายสุดของรายชื่อสารต้านการอักเสบ คุณสมบัติข้อนี้ของเคอคูมิน ถือว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญทางการแพทย์ เนื่องจากในปัจจุบันมีข้อมูลมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า โรคเรื้อรังส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากกระบวนการอักเสบ เช่น มะเร็ง ข้ออักเสบ โรคหัวใจ คลอเลสเตอรอสูง อาการปวดเรื้อรัง โรคผิวหนัง การอักเสบเกิดขึ้นทุก ๆ เวลาในร่างกาย จากการทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ความเครียด การนอนที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นหากเราควบคุมหรือลดกระบวนการอักเสบได้ เชื่อว่าโรคภัยต่าง ๆ จะน้อยลง
- รักษาข้ออักเสบ (Joint support)
อย่างที่ทราบกันแล้วว่า คุณสมบัติเด่นของเคอคูมินคือ ฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดปวด จึงมีการนำเคอคูมินมาใช้รักษาผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ ผลปรากฏว่าผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่ได้รับสารเคอคูมิน มีอาการดีขึ้นในทุกด้าน ดีขึ้นมากกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาบรรเทาอาการปวดไดโคลฟีแนค (Diclofenac) และไม่ได้รับผลข้างเคียงใดจากการใช้เคอคูมิน องค์กรชั้นนำของประเทศอังกฤษ Arthritis Research UK แนะนำให้ใช้เคอคูมินเป็นตัวช่วยในการรักษาร่วมหรือยาเสริมการรักษาข้ออักเสบ
- เสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร (Digestion support)
ขมิ้นช่วยเพิ่มการขับน้ำดีจากตับ น้ำดีมีหน้าที่ช่วยย่อยไขมัน ซึ่งไขมันเป็นส่วนประกอบสำคัญของสมอง ผิวหนัง อวัยวะต่าง ๆ ฮอร์โมน ช่วยในการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ และการขับน้ำดีออกมาจากตับก็เป็นการขับสารพิษออกจากตับด้วย ถือว่าเป็นการล้างสารพิษในตับอีกทาง นอกจากนั้นขมิ้นยังช่วยลดการอักเสบของลำไส้ โดยที่ไม่ทำลายเชื้อแบคทีเรียดีในลำไส้
- เสริมสุขภาพหัวใจ (Heart health)
เนื่องจากขมิ้นมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดการแข็งตัวของเลือดและเกล็ดเลือด ลดไขมันเกาะตามผนังหลอดเลือด (Atherosclerosis) จัดว่าเคอคูมินเป็นสารสำคัญที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันเริ่มมีการแนะนำการใช้น้ำมันปลาและขมิ้นมากขึ้น เพื่อลดภาวะคลอเลสเตอรอลสูงในเลือด เปนเพราะหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้ยาสแตติน
จะเห็นว่าขมิ้นที่ห้องครัวซึ่งดูเหมือนจะเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน กลับกลายเป็นสารทรงพลังทางการแพทย์ และไม่ได้มีสรรพคุณเพียงแค่นี้ ยังมีการทดลองใหม่เกิดขึ้นซึ่งชี้ให้เห็นถึงคุณสมบัติที่ช่วยลดน้ำหนัก บำรุงผิว ภูมิแพ้ และอื่น ๆ ที่วงการแพทย์พยายามดึงประโยชน์จากธรรมชาติมาเยียวยามนุษย์ เพื่อลดการใช้ยาเคมีสังเคราะห์อย่างต่อเนื่อง
เคล็ดลับการได้รับเคอคูมินอย่างมีประสิทธิภาพ
ในชีวิตประจำวัน เราสามารถเพิ่มเคอคูมินได้จากการประกอบอาหารจากขมิ้น แต่วิธีที่ง่ายกว่าคือการเติมผงขมิ้นลงไปในอาหารมื้อนั้น ๆ หรือหากมองหาตัวช่วยที่สะดวกขึ้น อีกทั้งยังทราบปริมาณเคอคูมินที่ได้รับด้วย นั่นคืออาหารเสริม เคล็ดลับการเลือกอาหารเสริมขมิ้น ควรเลือกอาหารเสริมขมิ้นที่มี piperine (สารอัลคาลอยด์พิเพอรีนที่อยู่ในพริกไทยดำ) ร่วมด้วย เพราะสารพิเพอรีนจะช่วยเสริมการดูดซึมสารเคอคูมินในขมิ้นได้ถึง 2000 เท่า และนอกจากนั้น เคอคูมินยังดูดซึมได้ดีในไขมัน ในมื้ออาหารนั้น อาจปรุงขมิ้นคู่กับน้ำมันมะกอกหรือน้ำกะทิ ก็เป็นอีกเคล็ดลับที่เราทำได้ในครัวเรา
อย่างไรก็ตาม บางคนก็พบว่าแพ้สารเคอคูมินได้ ผลข้างเคียงจากการใช้ขมิ้น เช่น คลื่นไส้ ถ่ายเหลว เลือดหยุดไหลยาก อาจรรบกวานการทำงานของตับและถุงน้ำดี ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมียาประจำ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทาน
There are no reviews yet.