น้ำตาลกับเบื้องหลังด้านมืดที่น้อยคนจะรู้-by-Doctor-Healthcare

รสหวาน ไม่ว่าจะหวานน้อย หวานมาก หวานละมุน หรือหวานพอดีนั้นเป็นตัวชูรสที่ทำให้เราเจริญอาหารได้เสมอ แต่หากคุณรู้จักผลของน้ำตาลที่สัมพันธ์เกี่ยวโยงกับโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ  มะเร็ง รอยเหี่ยวย่น และความเสื่อมชราก่อนวัยแล้ว คุณจะรับรู้ว่าน้ำตาลไม่ได้ทำให้สุขภาพร่างกายของเราหอมหวานดังเช่นชื่อของมันเลย

 

เปิดโปงเรื่องอื้อฉาวของอุตสาหกรรมน้ำตาล (Sugar Industry Scandal)

ตั้งแต่อดีตที่เราทราบกันดีว่าน้ำตาลมีประโยชน์ทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย และที่พิเศษกว่านั้นคือ ทางการแพทย์มีการใช้น้ำตาลเพื่อช่วยลดความเจ็บปวดของเด็กเล็กหรือแม้กระทั่งทารกในครรภ์ได้ แต่ในปัจจุบันนี้ คนเริ่มหันมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้นพร้อมกับการแพทย์เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ข้อมูลวิจัยมากมายที่สนับสนุนว่า การบริโภคน้ำตาลที่มากเกินพอดีเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ไขมันที่มักถูกโยนให้เป็นผู้ร้ายดังเช่นในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 ที่กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตน้ำตาลได้จ่ายเงินสนับสนุนกองทุนวิจัยของฮาร์วาร์ด(Harvard research) เพื่อศึกษาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจหลอดเลือด(Coronary Heart Disease) และผลสรุปจากการทำวิจัยครั้งนั้นนักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวโทษว่าไขมัน(Fat) และคอเลสเตอรอล(Cholesterol) เป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคหัวใจหลอดเลือดซึ่งไม่กล่าวถึงโทษจากน้ำตาลเลย จากการค้นพบเปิดโปงครั้งนี้(Sugar Industry Scandal) ทำให้ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ JAMA Internal Medicine  เมื่อพฤศจิกายน 2016

 

beverage-sweeten

 

โทษของการบริโภคน้ำตาลเกินพอดี

ตามที่สมาคมหัวใจของอเมริกา(American Heart Association, AHA ) ได้แนะนำปริมาณของน้ำตาลที่สามารถบริโภคได้ในหนึ่งวัน คือ 6 ช้อนชาสำหรับผู้หญิง(100 calories) และ 9 ช้อนชาสำหรับผู้ชาย(150 calories) ซึ่งเมื่อหันมาดูปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มตามท้องตลาดทั่วไปก็มักมีน้ำตาลถึง 8 ช้อนชาเข้าไปแล้ว ผลการสำรวจของอเมริกาพบว่าชาวอเมริกันบริโภคน้ำตาลที่อยู่ในอาหารเครื่องดื่มโดยเฉลี่ย 20 ช้อนชาต่อวัน ทั่วโลกก็มีแนวโน้มการบริโภคน้ำตาลที่ขยับสูงขึ้นเช่นกัน จึงไม่แปลกใจที่คนป่วยโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน จึงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน งั้นมาดูกันว่าข้อเท็จจริงแล้วการบริโภคน้ำตาลเกินพอดีส่งผลต่อเราอย่างไรได้บ้าง

  • มะเร็ง  น้ำตาลเป็นอาหารของทุกเซลล์ในร่างกายรวมทั้งเซลล์มะเร็งด้วย แต่ตัวน้ำตาลเองนั้นไม่ได้มีผลทำให้เกิดมะเร็งโดยตรง งานวิจัยพบว่าเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานส่งผลให้ระดับอินซูลินและ growth factor สูงขึ้น ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ส่งผลให้เซลล์มะเร็งเติบโตได้ดี
  • โรคหัวใจ  เรามักได้ยินถึงการปฏิบัติตัวที่ดีต่อหัวใจคือ เลี่ยงการทานเกลือ ไขมันทรานส์ และไขมันอิ่มตัว แต่นอกจากนั้นแล้วสารอาหารอีกตัวที่ควรระวังด้วยเช่นกันคือน้ำตาล การบริโภคน้ำตาลมากสัมพันธ์กับระดับไขมันในเลือดสูงด้วยเช่นกัน ทั้งไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์และไขมันคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอลหรือไขมันไม่ดี(LDL-cholesterol) ส่งผลทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากขึ้น
  • อ้วน  อาหารเครื่องดื่มที่แอบซ่อนไปด้วยปริมาณน้ำตาลสูงแต่บางครั้งถูกกลบด้วยรสชาติเปรี้ยว มัน ทำให้เราไม่ทันได้ระวังตัว เมื่อเรารับน้ำตาลเหล่านี้เข้าไป ร่างกายจะเก็บสะสมในรูปไขมันอยู่บริเวณสะโพก พุง น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างง่ายดาย อีกทั้งไขมันบริเวณนี้สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจโดยตรงอีกด้วย
  • ตับ  เมื่อน้ำตาลเข้าไปในเลือดจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งอินซูลินออกมาเพื่อนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ไว้เป็นพลังงาน แต่ถ้ามีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงเกินความจำเป็นของร่างกายที่ต้องการใช้ น้ำตาลเหล่านั้นจะถูกนำไปเก็บเป็นพลังงานสะสมในรูปของแป้งและไขมันโดยเฉพาะที่ตับ เกิดเป็นภาวะ “ไขมันพอกตับ” หากเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบและตับแข็งได้
  • สมอง  ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงตลอด ทำให้ลดความสามารถของสมองในส่วนความนึกคิด แต่ไม่ได้เหมารวมถึงการทานน้ำตาลมีผลโดยตรง ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงตลอด พบได้ในเบาหวาน ความเครียดเรื้องรัง ลักษณะนิสัยการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์บ่อย ๆ
  • ฟัน  หลังจากทานหรือดื่มพวกอาหาร ขนม เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลแล้ว ความหวานที่ตกค้างในช่องปาก ซอกฟัน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเชื้อแบคทีเรีย เมื่อแบคทีเรียย่อยน้ำตาลจะได้กรดออกมาด้วย กรดจะไปทำลายสารเคลือบฟันและมีโอกาสฟันผุตามมาได้
  • คุณค่าโภชนาการ  หากคุณกำลังวางแผนลดหรือควบคุมน้ำหนัก สิ่งสำคัญที่ควรจัดการเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ การควบคุมปริมาณน้ำตาลเพราะน้ำตาลจัดเป็น Empty Diet คือ พลังงานที่ปราศจากคุณค่าทางอาหาร หมายความว่าในวันหนึ่งนั้นเรามีปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายเราไม่ควรได้รับเกินค่านั้น ๆ เพราะถ้าเกินแล้วจะส่งผลให้พลังงานส่วนเกินนั้นถูกเปลี่ยนไปเก็บสะสมเป็นไขมันตามส่วนต่างๆของร่างกาย เหมือนกล่องเก็บของที่บรรจุลูกบอลขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่มากมาย เบียดเบียนเนื้อที่อื่น ๆ ทำให้เก็บของที่มีประโยชน์ได้น้อยลง
  • การรับรู้ของลิ้น  อาหารเครื่องดื่มหวานเหล่านั้นทำให้การรับรู้ของสมองและลิ้นปรับระดับการรับรู้รสชาติ จากที่เคยทานรสหวานจากธรรมชาติแล้วอร่อยกลมกล่อมกลับกลายเป็นรสชาติไม่ดีเท่าอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งจากน้ำตาล ยิ่งทำให้เราเพิ่มระดับความหวานในอาหารเครื่องดื่มมากขึ้น ส่งผลเสียตามมาอีกมากมาย
  • ผิว  อาหารที่มี index glycemic สูง คือพวกที่มีน้ำตาลสูงแต่ไฟเบอร์เส้นใยอาหารต่ำ จะไปทำลายโครงสร้างผิวในส่วนของคอลลาเจนและโปรตีน Elastin และยังมีผลต่อการหลั่งไขมันจากต่อมไขมันที่ผิวหนังมากขึ้นในบางคน ทำให้ผิวมีรอยย่น รอยตีนตา และเป็นสิวได้ง่าย

อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้ว หลายคนถึงขั้นหลีกเลี่ยงการทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตไปเลย ซึ่งไม่ควรทำเช่นนั้น เพราะสารอาหารเหล่านี้ยังจำเป็นต่อกระบวนการพื้นฐานของร่างกายทั้งเป็นพลังงานสำคัญในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นสิ่งที่ควรปฏิบัติตัวคือ เดินทางสายกลาง ไม่มากเกินที่แนะนำ และไม่น้อยหรือไม่ทานเลย เพราะอย่างหลังก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกันค่ะ