น้ำมันปลาโอเมก้า 3 โอเมก้า 6 โอเมก้า 9…… น้ำมันตับปลา……อันไหนดี-by-Docotr-Healthcare

ทุกครั้งที่ทำงานหนัก สมองคิดงานเยอะ มีเวลาพักผ่อนน้อย หรือช่วงอายุมากขึ้น เรามักมองหาตัวเลือกในการดูแลสุขภาพ หนึ่งในนั้นคือน้ำมันปลา และน้ำมันตับปลา หลังจากนั้นก็งงไปสักพักกับคุณประโยชน์ของทั้งสองว่าแตกต่างกันอย่างไร

น้ำมันปลา กับ น้ำมันตับปลา ต่างกันอย่างไร

          หลายคนสับสนระหว่างน้ำมันปลากับน้ำมันตับปลา ความจริงคือไม่ใช่แค่ชื่อที่แตกต่างแต่คุณประโยชน์ก็ต่างกันมากด้วย การที่จะเลือกทานตัวไหนขึ้นกับความต้องการของเราเอง

น้ำมันปลา(Fish oil) มีโอเมก้า 3 เป็นส่วนประกอบหลัก สกัดจากปลาทะเล เช่น แซลมอล ซาร์ดีน เทราต์ แมคเคอเรล

น้ำมันตับปลา(Cod Liver oil) มีวิตามินเอ และวิตามินดีเป็นส่วนประกอบหลัก มีโอเมก้า 3 เล็กน้อย สกัดจากตับของปลาทะเล เช่น คอด เฮอร์ริ่ง

อาจดูคล้ายกันแต่ส่วนประกอบหลักต่างกันอย่างมาก ดังนั้นก่อนที่จะทานควรทราบเบื้องต้นว่าเราต้องการสารอาหารเพื่อเสริมประโยชน์ด้านใด

 

salmon-omega3

 

โอเมก้า 3 โอเมก้า 6 โอเมก้า 9 ทานอันไหนดี

เมื่อพูดถึงน้ำมันปลาโอเมก้า 3 หรือโอเมก้า 6 อาจรู้จักกันดีว่าเป็นไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าพูดถึงโอเมก้า 9 หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินและนี่อาจเป็นครั้งแรกที่รู้ว่ามีโอเมก้า 9 ด้วย ความจริงแล้วไขมันโอเมก้าทั้ง 3 ชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยชื่อที่ต่างกันมาจากโครงสร้างภายในที่ต่างกัน เพียงแต่โอเมก้า 9 นั้นร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาใช้ได้เอง จึงจัดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 เป็นไขมันจำเป็นที่ต้องได้รับเพิ่มจากการรับประทานทานเพิ่มดังนั้นทางการแพทย์จึงมีการรณรงค์ให้คนรับประทานเพิ่ม ทำให้เป็นที่รู้จักกันดีและไม่ประหลาดใจที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักแค่โอเมก้า 3 และโอเมก้า 6

โอเมก้าทั้ง 3 ชนิดไม่เพียงแค่มีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย แต่ยังเป็นส่วนประกอบโครงสร้างพื้นฐานของเยื่อหุ้มเซลล์และมีประโยชน์อีกมากแตกต่างกันดังนี้

โอเมก้า 3 ลดกระบวนการอักเสบ ลดการแข็งตัวของเลือด ช่วยกำจัดการสร้างเซลล์ไขมันตัวร้ายชนิดแอลดีแอล(LDL-cholesterol) และไตรกลีเซอร์ไรด์(Triglyceride) พัฒนาระบบประสาท และเพิ่มความยืดหยุ่นของเยื่อหุ้มเซลล์ มี 3 รูปแบบ

  • DHA (docosahexaenoic acid) ดีเอชเอ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในระบบประสาท จอตา และสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมนหรือปฏิกิริยาที่สำคัญของร่างกาย
  • EPA (Eicosapentaenoic acid) อีพีเอ เป็นสารตั้งต้นในการสร้างฮอร์โมนหรือปฏิกิริยาที่สำคัญของร่างกาย
  • ALA (Alpha-linolenic acid) เอแอลเอ ใช้เป็นพลังงานในร่างกาย

DHA และ EPA พบได้ในปลาและอาหารทะเลเท่านั้น ส่วน ALA พบได้ในพืช เช่น น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์(Flaxseeds oil) เมล็ดเชีย(Chia seed)  ถั่วเปลือกแข็ง(walnut) พบว่า ALA ในร่างกายมนุษย์สามารถเปลี่ยนเป็น EPA และ DHA ได้น้อยมาก

โอเมก้า 6 ช่วยเก็บสะสมไขมันและส่งเสริมความแข็งตัวในเซลล์รวมทั้งการเกิดการแข็งตัวของเลือดและการอักเสบเพื่อตอบสนองการคุกคามจากภายนอก พบได้ในน้ำมันพืช(ข้าวโพด ทานตะวัน ถั่วเหลือง งาดำ เป็นต้น) ถั่ว

โอเมก้า 9 ช่วยส่งเสริมระบบหลอดเลือดและหัวใจ ระบบประสาท พบได้ใน อะโวคาโด อัลมอนด์ น้ำมันมะกอก ถั่ว

ทำไมต้องรับประทานโอเมก้า 3 เพิ่ม

ตามสมดุลที่ดีเราควรได้รับสัดส่วนโอเมก้า 3:โอเมก้า 6 คือ 1:1 ซึ่งในอดีตเราสามารถรับสารอาหารเหล่านี้ในปริมาณสมดุลจากอาหารที่พบในธรรมชาติ เนื่องจากสัตว์ เช่น วัว ไก่ ออกหากินเองอิสระตามธรรมชาติซึ่งหญ้าเหล่านั้นอุดมด้วยโอเมก้า 3 แต่เมื่อถึงจุดเปลี่ยนของวงการปศุสัตว์ช่วงทศวรรษ 1950 ความต้องการผลิตภัณฑ์จากนมและเนื้อวัวสูงขึ้น เกษตรกรต้องปรับหาทางการผลิตให้ใช้เวลาน้อยลงแต่ได้ผลผลิตมากขึ้น จึงมีการลดขนาดพื้นที่ปศุสัตว์และธัญพืชจำพวกข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ซึ่งอุดมไปด้วยโอเมก้า 6 ก็กลายมาเป็นอาหารหลักของสัตว์เหล่านี้ (อ่านเพิ่มได้ที่ อาหารเสริมจำเป็นหรือไม่…ทำไมต้องรับประทาน)

ดังนั้นในยุคปัจจุบัน ชนิดและปริมาณกรดไขมันโอเมก้าในอาหารที่เราได้รับขึ้นอยู่กับการหากินของวัวและไก่ที่เราทานนั้นว่ามันหากินอะไร ถ้ามันกินข้าวโพด ถั่วเหลือง ความไม่สมดุลที่เกิดในร่างกายเราจะมากเป็น 1:15 ของโอเมก้า 3: โอเมก้า 6 จากข้อมูลนี้พบความสัมพันธ์ของการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น จึงทำให้เกิดการรณรงค์ให้คนทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 มากขึ้น  แต่ไม่ได้หมายความว่าให้หลีกเลี่ยงการทานโอเมก้า 6 เราควรทานอาหารให้หลากหลายเพื่อชีวิตที่ได้สมดุล

อะไรมากไปก็ไม่ดีอะไรน้อยไปก็ไม่ดีเพราะชีวิตคือความสมดุล ร่างกายก็เช่นเดียวกันหากใช้งานหนักไม่ว่ากายหรือสมองก็จำเป็นที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ก่อนจะพัง เพราะหากพังแล้วจะซ่อมแซมก็อาจไม่ได้ประสิทธิภาพดีเช่นเดิม ใช้เวลาพิจารณาสักนิดก่อนทานจะได้ไม่ผิดประเด็น